https://www.high-endrolex.com/12
https://www.high-endrolex.com/12
แพทย์แผนไทย

ผู้อำนวยการ  


นายโมทน์  ฝอยทอง
นายแพทย์เชี่ยวชาญ
โทรศัพท์:086-488-6966

   

มี 6 ผู้มาเยือน และ ไม่มีสมาชิกออนไลน์ ออนไลน์

   

ความหมายและความเป็นมาของวิชาชีพแพทย์แผนไทย

1. ความหมายของวิชาชีพแพทย์แผนไทย
ความหมายของวิชาชีพแพทย์แผนไทยสามารถแบ่งออกเป็น วิชาชีพและการแพทย์แผนไทย สามารถให้ความหมายของคำทั้งสองได้ดังนี้

1.1 วิชาชีพ
วิชาชีพ ความหมายตามพจนานุกรมราชบัณฑิตสถาน พ.ศ. 2542 หมายถึง วิชาที่จะนำไปใช้ในการประกอบวิชาชีพ เช่น วิชาแพทย์ วิชาช่างไม้ วิชาช่างยนต์
วิชาชีพ ความหมายตามพจนานุกรมฉบับมติชน พ.ศ. 2547 หมายถึง ความรู้ที่เกี่ยวกับการประกอบอาชีพ เช่น วิชาช่างทั้งหลาย
หรือตามรากศัพท์มาจาก วิชา + อาชีพ คือ อาชีพที่ต้องอาศัยความรู้ที่ได้จากการฝึกฝนเล่าเรียน
วิชาชีพ มาจากคำภาษาอังกฤษ Professional หมายถึง อาชีวปฏิญญาณ คือ อาชีพที่ต้องมีการปฏิญญาณ ซึ่งได้แก่อาชีพนักบวช แพทย์ ครู เป็นต้น ดังนั้นวิชาชีพต้องเป็นอาชีพที่ต้องอาศัยความรู้ การฝึกฝนประสบการณ์ ตลอดจน คุณธรรม จริยธรรม หรือจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ

1.2 การแพทย์แผนไทย
การแพทย์แผนไทย  ความหมายตามพระราชบัญญัติการประกอบโรคศิลปะ พ.ศ. 2542 หมายถึง การประกอบโรคศิลปะตามความรู้หรือตำราแบบไทยที่ถ่ายทอดและพัฒนาสืบต่อกันมา หรือตามการศึกษาจากสถานศึกษาที่คณะกรรมการรับรอง
โดยที่การประกอบโรคศิลปะ หมายถึง การประกอบวิชาชีพที่กระทำหรือมุ่งหมายจะกระทำต่อมนุษย์เกี่ยวกับการตรวจโรค การวินิจฉัยโรค การบำบัดโรค การป้องกันโรค การส่งเสริมและฟื้นฟูสุขภาพ การผดุงครรภ์ แต่ไม่รวมถึงการประกอบวิชาชีพทางการแพทย์และสาธารณสุขอื่นตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น ๆ
กล่าวโดยสรุป การแพทย์แผนไทยต้องเป็นการประกอบโรคศิลปะที่อาศัยการถ่ายทอดจาก
ครูรับมอบตัวศิษย์ หรือเป็นการศึกษาจากสถาบันการศึกษาที่คณะกรรมการรับรอง ประกอบด้วย
2 นัยยะนั้นเอง
การแพทย์แผนไทย ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ. 2542 หมายความว่า กระบวนการทางการแพทย์เกี่ยวกับการตรวจ วินิจฉัย บำบัด รักษา หรือป้องกันโรค หรือการส่งเสริมและฟื้นฟูสุขภาพของมนุษย์ หรือสัตว์ การผดุงครรภ์ การนวดไทย และให้หมายความรวมถึงการเตรียมการผลิตยาแผนไทย และการประดิษฐ์อุปกรณ์ และเครื่องมือทางการแพทย์ทั้งนี้โดยอาศัยความรู้หรือตำราที่ได้ถ่ายทอดและพัฒนาสืบต่อกันมา
สรุป วิชาชีพแพทย์แผนไทย ต้องประกอบด้วยองค์ประกอบ 3 ข้อ ได้แก่

  • ความรู้
  • การฝึกฝนทักษะและประสบการณ์เฉพาะ
  • คุณธรรม จริยธรรม และจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ

วิชาชีพแพทย์แผนไทย หมายความว่า การประกอบอาชีพที่ต้องอาศัย ความรู้ จากตำราแบบไทยที่ถ่ายทอดและพัฒนาสืบต่อกันมา หรือจากสถาบันการศึกษาที่มีการเรียนการสอนการแพทย์แผนไทย มีการฝึกฝนทักษะและประสบการณ์เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องการแพทย์แผนไทยอันได้แก่ เวชกรรมไทย เภสัชกรรมไทย การผดุงครรภ์ไทย หรือการนวดไทย และต้องมีคุณธรรม จริยธรรม หรือจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพกำกับด้วย

2. ความเป็นมาของวิชาชีพแพทย์แผนไทย

                ความเป็นมาของการแพทย์แผนไทยตั้งแต่ ก่อนสมัยสุโขทัย สมัยสุโขทัย สมัยอยุธยา และสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นนั้น ไม่ได้มีการชี้ชัดลงไปถึงวิชาชีพการแพทย์แผนไทย เริ่มมีการปรากฏหลักฐานเป็นครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 6 จากพระราชบัญญัติการแพทย์ พระพุทธศักราช 2466 มีคำว่า “วิชชาชีพ” ปรากฏในเนื้อความของกฎหมายดังกล่าว ดังนั้นวิชาชีพการแพทย์แผนไทย จึงเกิดในสมัยรัชกาลที่6 ตรงกับ พระพุทธศักราช 2466 นั้นเอง
การแพทย์ดั้งเดิมของไทยผูกพันกับไสยศาสตร์ ความเชื่อมั่นในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ นับถือภูตผีปีศาจ เทพ เทวดา มีความเชื่อว่าโรคภัยไข้เจ็บเกิดจากอำนาจลึกลับ ต่อมาจึงเกิดการเรียนรู้และการใช้ประโยชน์ของพืชและสัตว์สมุนไพรในการบำบัดและรักษาโรคภัยไข้เจ็บ ซึ่งแตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น ก่อนสมัยสุโขทัย อาณาจักรขอมหรือกัมพูชามีความเจริญรุ่งเรืองสูงสุด พุทธศตวรรษที่ 16-17 และได้ขยายอำนาจเข้ามาปกครองและมีอิทธิพลในดินแดนบางส่วนของไทยในปัจจุบัน     ได้แก่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา 
หลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการเจ็บไข้ได้ป่วย และการดูแลรักษาปรากฏในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 (กษัตริย์แห่งกัมพูชา)  ได้สร้างอโรคยศาล  กระจายอยู่ในราชอาณาจักร และค้นพบหลักฐานในประเทศไทย 22 แห่ง บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ได้แก่ จังหวัดชัยภูมิ สุรินทร์ ศรีษะเกษ บุรีรัมย์ อุบลราชธานี ร้อยเอ็ด ขอนแก่น มหาสารคาม และนครราชสีมา โดยอโรคยศาลเปรียบเหมือนโรงพยาบาล ประกอบด้วยแพทย์ พนักงานจ่ายยา พยาบาล เจ้าหน้าที่และคนงาน วิธีการรักษาเป็นแบบอายุรเวทของศาสนาฮินดู ที่มีอิทธิพลก่อนที่พุทธศาสนามหายานจะเข้ามาในกัมพูชา โดยอโรคยศาลจะมีการรักษาด้วยสมุนไพรและการรักษาด้วยเวทมนต์คาถา ซึ่งบูชาพระพุทธไภษัชคุรุไวฑูรย์ประภาเมื่อได้สัมผัสรูปปฏิมาของพระองค์หรือการสวดบูชาและบวงสรวงด้วยยาและอาหารจะทำให้โรคภัยไข้เจ็บหายได้ การนับถือพระพุทธไภษัชคุรุไวฑูรยประภามีความเชื่อว่าเป็นองค์พุทธแพทย์ผู้ทำหน้าที่รักษาโรคภัยไข้เจ็บให้แก่สรรพสัตว์ โดยมีหลักฐานค้นพบที่ปรางค์กู่เขวา อำเภอเมือง จังหวัดสารคาม เป็นพระพุทธรูปแกะด้วยหินทราย หลังจากพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 สวรรคต ความเจริญรุ่งเรืองและอำนาจทางการเมืองของกัมพูชาเริ่มเสื่อมลง พร้อมกับความเจริญของรัฐสุโขทัยในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ซึ่งการบำบัดและรักษาโรคภัยไข้เจ็บได้รับอิทธิพลจากศาสนาและวัฒนธรรม ทั้งจากอินเดีย เขมร และจีน จากระบบแพทย์พื้นฐานอันเป็นการแพทย์การแพทย์ประสบการณ์กับความเชื่อทางไสยศาสตร์ เกิดการผสมผสานหล่อหลอมเป็นรากฐานของการแพทย์แผนไทยมาจนถึงปัจจุบัน

                2.1 การแพทย์แผนไทยในสมัยสุโขทัย
การรักษาการเจ็บไข้ได้ป่วยในสมัยสุโขทัย รักษาด้วยสมุนไพรและการรักษาโดยวิธีทางพุทธศาสนาและไสยศาสตร์ เป็นการรักษาผสมผสานกันแบบพื้นบ้านโดยหมอกลางบ้านและพระสงฆ์ที่มีความรู้ หลักฐานที่ค้นพบได้แก่ หินบดยาสมัยทวาราวดี จึงเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ แสดงให้เห็นว่าระบบทางการแพทย์ในสมัยนั้นมีการใช้สมุนไพรพื้นบ้าน นำมาต้ม หรือพอก หรือบดให้ละเอียดเพื่อรับประทาน นอกจากนี้ยังมีความเชื่อว่าความเจ็บป่วยเกิดจากการกระทำของภูติผีปีศาจเป็นอำนาจอิทธิพลเหนือธรรมชาติ ดังข้อความในหนังสือไตรภูมิพระร่วงว่า “ผิแลว่ามีผู้ใดไปไหว้นบคำรพบูชาแก่กงจักรแก้วนั้นด้วยข้าวตอกดอกไม้ แลกงจักรนั้นเพียรย่อมบำบัดเสียซึ่งความไข้ความเจ็บ” และยังค้นพบตุ๊กตาเสียกบาล เป็นตุ๊กตาแบบแม่อุ้มลูก พ่ออุ้มลูก ซึ่งแสดงให้เห็นว่าในสมัยสุโขทัยคงมีปัญหาเรื่องโรคเด็กและการคลอดบุตร ทำให้มีพิธีเสียกบาลที่ทำขึ้นเมื่อเด็กแรกเกิดไม่สบาย ซึ่งมีความเชื่อว่าเป็นการกระทำของภูตผี อาจกล่าวได้ว่าการแพทย์แผนไทยในสมัยสุโขทัยยังไม่เป็นระบบแบบแผน มีการใช้สมุนไพรในการรักษาผสมผสานกับหลักพุทธศาสนากับพิธีกรรมทางไสยศาสตร์ 

2.2 การแพทย์แผนไทยในสมัยอยุธยา

                มีปรากฏหลักฐานการแพทย์แผนไทยในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถว่ามีไข้ทรพิษระบาด และสามารถดูแลรักษาโรคร้ายจนหายหมดสิ้น โดยไม่มีการทิ้งเมืองให้ร้างอย่างในสมัยพระเจ้าอู่ทอง ที่มีการอพยพผู้คนเมื่อเกิดโรคห่า(กาฬโรค)ระบาด ในสมัยพระบรมไตรโลกนารถ มีการสถาปนาการแพทย์แผนไทยอย่างชัดเจน โดยปรากฏในกฎหมายตราสามดวง มีทำเนียบศักดินาของส่วนราชการทางการแพทย์ ประกอบด้วย
1)   กรมแพทยา แบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย เจ้ากรมแพทยาฝ่ายทหารและเจ้ากรมแพทยาฝ่าย
พลเรือน มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบด้านการแพทย์ ได้แก่ ด้านการแพทยาทหาร และฝ่ายพลเรือน
2)    กรมหมอ แบ่งออกเป็นฝ่ายขวาและฝ่ายซ้าย มีหน้าที่จัดยา เตรียมยา ต้มยา และแสวงหาเครื่องยา
3)       กรมหมอกุมาร มีหน้าที่ดูแลรักษาการเจ็บไข้ได้ป่วยของเด็ก เฉพาะโรคเด็ก
4)    กรมหมอนวด แบ่งออกเป็นฝ่ายขวาและฝ่ายซ้าย  เจ้ากรมหมอนวดฝ่ายซ้าย คือหมอนวดฝ่ายหญิง หมอนวดฝ่ายขวา คือหมอนวดฝ่ายผู้ชาย มีหน้าที่รักษาขั้นพื้นฐานการเจ็บไข้ได้ป่วยด้วยการนวด
5)      กรมหมอยาตา แบ่งออกเป็นฝ่ายขวาและฝ่ายซ้าย  รับผิดชอบเกี่ยวกับโรคตา
6)    กรมโรคหมอวรรณโรค  แบ่งออกเป็นฝ่ายขวาและ ฝ่ายซ้าย  รับผิดชอบเกี่ยวกับการรักษาบาดแผลชนิดต่าง ๆ
7)   โรงพระโอสถ เป็นตำแหน่งนายแพทย์แผนไทยใหญ่ที่สุด เพราะมีศักดินาสูงสุด หน้าที่ดูแลเก็บรักษาตัวยาสมุนไพร และจำแนกแจกแจง หมวดหมู่ของตัวยา รวมทั้งผลิตยาตำราหลวง และยังทำหน้าที่ประสานกับกรมอื่น ๆ เกี่ยวกับแพทย์แผนไทย ประสานงานกับหมอหลวง หมอพระ และหมอพื้นบ้านที่มีอยู่ทั่วประเทศ เพื่อคอยดูแลบำบัดรักษาผู้ป่วยทั่วราชอาณาจักรไทย
นอกจากนี้ยังปรากฏแหล่งขายยาสมุนไพร ที่เรียกว่า “ถนนป่ายา” ประกอบด้วยร้านขายยา เครื่องเทศ เครื่องไทย กล่าวได้ว่าในสมัยอยุธยามีการวางระบบบริหารการแพทย์ตามความเชี่ยวชาญเฉพาะตามที่กล่าวมาข้างต้น แต่อย่างไรก็ดีไม่ปรากฏหลักฐานเกี่ยวกับโรงเรียนหรือสถาบันของการแพทย์โดยตรง การฝึกฝนเล่าเรียน ยังคงศึกษากันในตระกูล หรือฝึกหัดกับหมอที่มีความชำนาญ ซึ่งใช้เวลาศึกษาและฝึกฝนนานนับหลายปี ตั้งแต่รู้จักต้นไม้ใบยา สรรพคุณเครื่องยาสมุนไพร การศึกษาคัมภีร์ ฝึกหัดดูอาการไข้กับอาจารย์ เพื่อแนะนำเทียบอาการโรคเมื่อมีความชำนาญจึงเริ่มการรักษาคนไข้ด้วยตนเอง
ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ มีการติดต่อค้าขายกับต่างประเทศทั้งเอเซียและยุโรป ทรงให้เสรีภาพในการนับถือศาสนา มีการค้นพบเอกสารในสมัยพระองค์ คือ ตำราแพทย์แผนไทย ที่เรียกว่า ตำราพระโอสถพระนารายณ์ เป็นการวินิจฉัยโรคตามทฤษีการแพทย์แผนไทย อันได้แก่ ธาตุสมุฏฐาน อุตุสมุฏฐาน อายุสมุฏฐาน และกาลสมุฏฐาน และตำรายังกล่าวถึงการรู้จักสรรพคุณยา
รสของยา นอกจากนี้ตำราพระโอสถพระนารายณ์ถือได้ว่าเป็นการผสมผสานของการแพทย์แผนไทยและการแพทย์แผนอื่น ได้แก่ การแพทย์แผนจีน การแพทย์แผนอินเดีย การแพทย์แผนตะวันตก เห็นได้จากหลักฐานหมอยาในตำราพระโอสถพระนารายณ์ ประกอบด้วย หมอไทย หมอจีน หมออินเดีย และหมอฝรั่ง ถือว่าเป็นการพัฒนาอีกขั้นหนึ่งของการแพทย์แผนไทย

                2.4 การแพทย์แผนไทยในสมัยรัตนโกสินทร์

ภายหลังการเสียกรุงศรีอยุธยา ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2310 ตำราวิชาการแขนงต่าง ๆ รวมทั้งการแพทย์แผนไทยถูกทำลายและสูญหายไปมาก เมื่อพระเจ้าตากสิน ตั้งราชธานีแห่งใหม่ที่ กรุงธนบุรี ก็ยังพัวพันอยู่กับการศึกสงครามที่ยังไม่สงบเรียบร้อย การฟื้นฟูวิทยาการต่าง ๆ จึงเป็นไปได้ยาก
สมัยรัชกาลที่ 1 เป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างสรรค์ความเจริญรุ่งเรือง เริ่มฟื้นฟูวิทยาการต่าง ๆ สำหรับการแพทย์และยังคงการรักษาตามแบบโบราณที่สืบเนื่องกันมาแต่ครั้งสมัยอยุธยา ได้ทรงปฏิสังขรณ์วัดโพธาราม หรือวัดพระเชตุพน ฯ เป็นจุดเริ่มมีวิวัฒนาการของการแพทย์แผนไทย ได้โปรดให้มีการจารึกตำรายาและฤาษีดัดตนไว้ตามศาลาราย มีการจัดตั้งกรมหมอโรงพระโอสถคล้ายกับในสมัยอยุธยา ผู้ที่รับราชการ เรียกว่า หมอหลวง ส่วนหมอที่รักษาประชาชนทั่วไป เรียกว่า หมอราษฎร์ รูปแบบการถ่ายทอดความรู้เน้นความสัมพันธ์ส่วนตัวระหว่างครูกับศิษย์ และทรงโปรดให้วัดพระเชตุพน ฯ เป็นแหล่งเผยแพร่ความรู้ เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณชน
สมัยรัชกาลที่ 2  มีการรวบรวมตำรายาจากพระราชาคณะ ข้าราชการ ตลอดจนราษฎร ซึ่งหมอหลวงได้ตรวจสอบและจดตำราไว้ในโรงพระโอสถ เรียกว่า ตำราพระโอสถครั้ง
รัชกาลที่ 2 นอกจากนี้ยังทรงได้ปฏิสังขรณ์วัดราชโอรสาราม (วัดจอมทอง) อำเภอบางขุนเทียน และทรงให้จารึกตำรายา ตำราหมอนวด และตำรายาวางปลิงในแผ่นหินติดตามกำแพงแก้วของพระวิหารและโบสถ์ และมีการรวบรวมเป็นจารึกตำรายาวัดราชโอรส นอกจากนี้ยังมี การตรากฎหมาย ชื่อว่า กฎหมายพนักงานพระโอสถถวาย ให้อำนาจในการค้นหาพระโอสถในแผ่นดินผู้ใดคัดค้านไม่ได้ และมีหน้าที่ในกับการปรุงยา โดยจัดเป็นศิลปะและศาสตร์ขั้นสูง เจ้าพนักงานพระโอสถต้องได้รับความไว้วางพระราชหฤทัย มีหน้าที่ปรุงยาด้วยความสัตย์ซื่อ และละเอียดถี่ถ้วนมีความรับผิดชอบสูง จำกัดอยู่ในตระกูลที่สืบทอดเป็นมรดกตกทอดเท่านั้น
สมัยรัชกาลที่ 3 ได้ทรงปฏิสังขรณ์ วัดพระเชตุพนฯ อีกครั้งมีพระราชประสงค์ที่จะได้เลือกสรรตำราต่าง ๆ ให้จารึกตำรายาไว้ในแผ่นศิลาวัดพระเชตุพนฯ เพื่อเป็นแหล่งข้อมูลต่าง ๆ สำหรับมหาชน โดยไม่เลือกชั้นวรรณะ ประกอบด้วย ภาพเขียน รูปปั้น  ตำรายา ตำราหมอนวดพร้อมรูป 30 คู่ วิชาเภสัชสมุนไพร รูปปั้นฤาษีดัดตน 80 ท่า แผ่นจารึกสมุฏฐานโรค วิธีรักษาโรคเด็กและผู้ใหญ่ และโปรดเกล้า ฯ ให้มีโรงเรียนแพทย์แผนโบราณ วัดพระเชตุพน ฯ  จัดพิมพ์ตำรายาศิลาจารึกวัดพระเชตุพนฯ  เพื่อรักษาต้นฉบับเดิมมิให้สูญหาย สามารถแบ่งเป็นหมวดหมู่ ได้แก่ วิชาบริหารร่างกาย (ฤาษีดัดตน) วิชาเวชศาสตร์ วิชาเภสัช และวิชาแผนนวด แบ่งออกหมวดหมู่อย่างสมบูรณ์ ภาพรวมของการแพทย์แผนไทยถือว่ามีการพัฒนากว่าในสมัยกรุงศรีอยุธยา นอกจากนี้ในสมัยรัชกาลที่ 3 การแพทย์แผนตะวันตกเริ่มเข้ามามีบทบาทต่อการแพทย์และสาธารณสุข โดยมิชชันนารีชาวอเมริกัน “ หมอบรัดเลย์” เป็นผู้ริเริ่มการปลูกผีป้องกันโรคไข้ทรพิษ ซึ่งได้ผลดี มีการใช้ยาควินินแก้ไข้จับสั่น โดยกรมวงศาธิราชสนิท เป็นแพทย์คนแรกที่เอายาฝรั่งมาใช้รักษาโรค
สมัยรัชกาลที่ 4 มีการวาดภาพฤาษีดัดตนไว้ที่ศาลาโถงวัดมัชฌิมาวาส(วัดกลาง) อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา 40 ท่า และเป็นยุคแห่งการเปิดประเทศ เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงมุ่งพัฒนาตามอย่างตะวันตก ในสมัยของพระองค์ พระบรมวงศานุวงศ์และขุนนางชั้นผู้ใหญ่ เริ่มนิยมการแพทย์ตะวันตก เช่น สูติกรรม แต่สำหรับราษฎรทั่วไปยังนิยมการแพทย์แผนไทยในการรักษาความเจ็บไข้ได้ป่วย เพราะการแพทย์แผนไทยถือว่าเป็นจารีต ประเพณี วัฒนธรรม และยังคงเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินชีวิตของคนไทย
สมัยรัชกาลที่ 5 พระองค์ได้เห็นความสำคัญและเสื่อมถอยของการแพทย์แผนไทย จึงโปรดเกล้าให้มีการฟื้นฟูการแพทย์แผนไทย ชำระตำราแพทย์แผนไทย ที่กระจัดกระจายตามที่ต่าง ๆ นำมารวมกันและตรวจสอบให้ตรงกับต้นฉบับเดิม รวมเรียกว่า “ เวชศาสตร์ฉบับหลวง”โปรดเกล้าตั้งศิริราชพยาบาล โดยมีพระราชประสงค์ให้เป็นที่อยู่อาศัยของประชาชนที่ป่วยไข้และให้ได้รับการรักษาตามควรแก่ฐานะ ซึ่งให้การรักษาพยาบาลตามแบบตะวันตกและแพทย์แผนไทยรักษาควบคู่กันไป ตามแต่ความสมัครใจของคนไข้ที่จะเลือกรับบริการ ต่อมาได้ทรงตั้งโรงเรียนฝึกหัดแพทย์ เรียกว่า “โรงเรียนแพทยากร” ต่อมาได้ยกขึ้นเป็นโรงเรียนราชแพทยาลัย หลักสูตรการศึกษา 3 ปี ประกอบด้วยแพทย์แผนตะวันตกและแพทย์แผนไทย ได้แก่ วิทยาศาสตร์พื้นฐาน วิทยาศาสตร์การแพทย์ และวิชาการเกี่ยวกับแพทย์แผนไทย ได้แก่ ธาตุวินิจฉัย สมุฏฐานวินิจฉัย ธาตุอภิญญาณ อสุรินทญาณธาตุ  ปฐมจินดา โรคยา และวิชาหมอนวด และในรัชกาลที่ 5 ยังมีการจัดตั้งโอสถศาลา เพื่อจำหน่ายและผลิตยาไทย 10 ขนาน ได้แก่ ยาหอมอินทจักร ยาหอมเนาวโกฐ ยาเทพจิตตรารมย์ ยานารายณ์ถอนจักร ยากำลังราชสีห์ ยาอุทัย ยาสุขไสยาสน ยาปัถวีธาตุพิการ ยาจันทลีลา และยาธาตุบรรจุ นอกจากตำราเวชศาสตร์ฉบับหลวงแล้ว ยังมีตำราอื่น ๆ ที่ปรากฏในสมัยนั้น ได้แก่ ตำราแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ฉบับหลวง ตำรายาพระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์ แพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ของโรงเรียนราชแพทยาลัย ตำราแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ของเวชศาสตร์สโมสร ตำราเวชศาสตร์วัณณาของท่านเจ้าคุณประเสริฐศาสตร์ธำรง (หมอหนู)  และตำราแพทย์ศาสตร์สังเขปหรือเวชศึกษาของพระยาพิศณุประสาทเวช (หมอคง)
สมัยรัชกาลที่ 6 ปรากฏว่านักเรียนแพทย์และประชาชนเลื่อมใสในการแพทย์ตะวันตกมากขึ้น การแพทย์ไทยจึงถูกลดทอนบทบาทและหมดโอกาสในการถ่ายทอดความรู้ในโรงเรียนแพทย์ในที่สุด มาใน พ.ศ. 2466 จึงมีการคุมการประกอบโรคศิลปะขึ้น ด้วยพระราชบัญญัติการแพทย์ พระพุทธศักราช 2466 พระราชบัญญัติฉบับนี้มีจุดมุ่งหมาย เพื่อสวัสดิ์ภาพของประชาชน ให้ความคุ้มครองป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชน อันเนื่องมาจากการประกอบวิชาชีพโดยผู้ที่ไม่มีความรู้และมิได้ฝึกหัด  และพระราชบัญญัติการแพทย์ให้ ถือว่าการประกอบโรคศิลปะตามคำนิยามในมาตรา 3 ถือว่าเป็นการประกอบวิชาชีพทางการแพทย์ ซึ่งคำว่า “วิชชาชีพ”ให้คำนิยามถึง องค์ประกอบของวิชาชีพนั้นควรประกอบด้วย ความรู้ ความบริสุทธิ์ของประกาศณียบัตร และให้หมายรวมถึง คุณธรรม จรรยามารยาทในวิชาชีพด้วย มีปรากฏให้เห็นในเนื้อความของกฎหมายพระราชบัญญัติดังกล่าว ให้คำนิยามองค์ประกอบวิชาชีพ ประกอบด้วย ความรู้ ความบริสุทธิ์ของปริญญาบัตร และให้หมายรวมถึง คุณธรรมจรรยามารยาทในวิชาชีพ และให้คำนิยามโรคศิลปะ หมายความว่า การบำบัดโรคทางยา และทางการผ่าตัด รวมทั้งการผดุงครรภ์ การช่างฟัน การสัตว์แพทย์ การปรุงยา การพยาบาล การนวด หรือการรักษาคนบาดเจ็บโดยประการใด ๆ โดยที่จะประกอบโรคศิลปะต้องได้ขึ้นทะเบียนและได้รับใบอนุญาตตามพระราชบัญญัติดังกล่าว ดังนั้นตามพระราชบัญญัติการแพทย์ พระพุทธศักราช 2466 การแพทย์แผนไทยจึงเป็นส่วนหนึ่งของวิชาชีพทางการแพทย์ โดยยังไม่มีการแบ่งเป็นการแพทย์แผนปัจจุบันและการแพทย์แผนโบราณ
สมัยรัชกาลที่ 7 ประเทศไทยพัฒนาเข้าสู่แบบตะวันตกรวมถึงระบบการแพทย์และสาธารณ
สุขของไทย การแบ่งดังกล่าวเป็นการปิดกั้นการพัฒนาการแพทย์แผนไทย แต่ยังคงมีการผลิตยาแผนไทย โดยกองโอสถศาลาจนถึง พ.ศ. 2484 จึงเลิกผลิต นับเป็นการยุติบทบาทการแพทย์แผนไทย ซึ่งให้บริการโดยรัฐอย่างสิ้นเชิง พระองค์ได้ตรากฎหมายเสนาบดี แบ่งการประกอบโรคศิลปะ ออกเป็น แผนปัจจุบันและแผนโบราณ โดยกำหนด
ประเภทแผนปัจจุบัน คือ ผู้ประกอบโรคศิลปะโดยความรู้จากตำราอันเป็นหลักวิชาโดยสากลนิยม  ซึ่งดำเนินและจำเริญขึ้น อาศัยการศึกษา ตรวจค้น และทดลองของผู้รู้ในทางวิทยาศาสตร์ทั่วโลก
ประเภทแผนโบราณ คือ ผู้ประกอบโรคศิลปะโดยอาศัยความสังเกต ความชำนาญอันได้สืบต่อกันมาเป็นที่ตั้ง หรืออาศัยตำราอันมีมาแต่โบราณ มิได้ดำเนินไปในทางวิทยาศาสตร์
สรุปได้ว่า การประกอบวิชาชีพทางการแพทย์ แบ่งออกเป็นวิชาชีพแพทย์แผนปัจจุบัน และวิชาชีพแพทย์แผนโบราณ ซึ่งวิชาชีพการแพทย์แผนโบราณ จะบ่งชี้ให้เห็นว่าเป็นการแพทย์ของไทยอาศัยความรู้จากตำราที่มีมาแต่โบราณ หรือการเรียนสืบต่อกันมามิใช่การค้นคว้าทดลอง หรือวิเคราะห์ วิจัยตามหลักวิทยาศาสตร์และการเล่าเรียนสืบต่อกันมา หรือความรู้จากตำรานั้น หมายถึง ความเป็นมาหรือศึกษาจากตำราที่เป็นของไทยเท่านั้น
สมัยรัชกาลที่ 8 มีพระบรมราชโองการให้ตราพระราชบัญญัติควบคุมการประกอบโรคศิลปะ พุทธศักราช 2479 ขึ้นใช้บังคับใช้แทนพระราชบัญญัติการแพทย์ พระพุทธศักราช 2466 เพื่อบำรุงมาตรฐานการประกอบโรคศิลปะและเพื่อสวัสดิ์ภาพของประชาชน โดยพระราชบัญญัติควบคุมการประกอบโรคศิลปะ พุทธศักราช 2479 ได้บัญญัติความหมาย ของคำว่า “โรคศิลปะ” หมายความว่า กิจการใด ๆ อันกระทำโดยตรงต่อร่างกายมนุษย์ในการบำบัดโรค ซึ่งรวมถึงการตรวจโรค และป้องกันโรคต่าง ๆ ในสาขาต่าง ๆ 7 สาขา ได้แก่ เวชกรรม ทันตกรรม เภสัชกรรม การพยาบาล การผดุงครรภ์ กายภาพบำบัด และเทคนิคการแพทย์
โดยแบ่งแผนการประกอบโรคศิลปะเป็นแผนปัจจุบันและแผนโบราณ ให้คำนิยาม
“การประกอบโรคศิลปะแผนปัจจุบัน” หมายความว่า การประกอบโรคศิลปะโยอาศัยความรู้อันได้ศึกษาตามหลักวิทยาศาสตร์ มี 4 สาขา ได้แก่ ทันตกรรม เภสัชกรรม กายภาพบำบัด และเทคนิคการแพทย์ และ“การประกอบโรคศิลปะแผนโบราณ” หมายความว่า การประกอบโรคศิลปะโดยอาศัยความรู้จากตำรา หรือการเรียนสืบต่อกันมา อันมิใช่การศึกษาตามหลักวิทยาศาสตร์ มี 3 สาขา ได้แก่ เวชกรรม เภสัชกรรม และผดุงครรภ์ นอกจากนี้ในสมัยพระองค์มีการตั้งกระทรวงสาธารณสุข เพื่อรวบรวมกิจการแพทย์ทุกแขนงเข้ามารวมในกระทรวงใน พ.ศ. 2485
สมัยรัชกาลที่ 9 พระองค์ท่านเป็นผู้จุดประกายให้แก่วงการการแพทย์แผนไทย เมื่อครั้งเสด็จวัดพระเชตุพน ฯ ทรงมีพระราชปรารภว่าวัดพระเชตุพน ฯ นับเป็นแหล่งรวบรวมตำราแพทย์แผนไทย อันได้แก่ เวชกรรม เภสัชกรรม ผดุงครรภ์ และการนวด ทำให้เกิดมีการจัดตั้งโรงเรียนแพทย์แผนโบราณ ได้ก่อตั้งขึ้นที่วัดพระเชตุพน ฯ ในปี พ.ศ. 2500 นับแต่นั้นสมาคมต่าง ๆ ก็ได้แตกสาขาออกไป ปัจจุบันมีโรงเรียนและสมาคมแพทย์แผนโบราณที่มีการดำเนินงานอยู่ดังนี้ โรงเรียนแพทย์แผนโบราณวัดพระเชตุพน ฯ สมาคมเภสัชและอายุรเวชโบราณแห่งประเทศไทย (วัดสามพระยา) สมาคมแพทย์แผนโบราณแห่งประเทศไทย (วัดมหาธาตุ) และสมาคมแพทย์แผนโบราณแห่งประเทศไทย (วัดปรินายก)   โดยสมาคมเหล่านี้มีหน้าที่ถ่ายทอดและเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการแพทย์แผนโบราณ และเปิดบริการรักษาผู้ป่วยโดยใช้ยาสมุนไพร และวิธีการนวด
พ.ศ. 2525 ศาสตราจารย์นายแพทย์ อวย เกตุสิงห์ ได้ก่อตั้งอายุรเวทวิทยาลัยจากมูลนิธิฟื้นฟูส่งเสริมการแพทย์ไทยเดิม เพื่อผลิตแพทย์อายุรเวท ซึงเป็นแพทย์แผนโบราณที่สามารถใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ได้ รับผู้จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 ใช้เวลาเรียน 3 ปี นับเป็นก้าวแรกของการศึกษาการแพทย์แผนไทยในระบบสถาบันการศึกษามาตรฐาน จากนั้นในปี พ.ศ. 2530 พระราชบัญญัติควบคุมการประกอบโรคศิลปะ พุทธศักราช 2479 (ฉบับแก้ไข) ได้แบ่งการประกอบโรคศิลปะแผนโบราณออกเป็น การประกอบโรคศิลปะแผนโบราณทั่วไป และการประกอบโรคศิลปะแผนโบราณประยุกต์ จะเห็นว่าการประกอบวิชาชีพการแพทย์ สามารถแบ่งได้เป็น การแพทย์แผนปัจจุบัน การแพทย์แผนโบราณทั่วไป และการแพทย์แผนโบราณแบบประยุกต์
พ.ศ. 2536 กระทรวงสาธารณสุขได้จัดตั้งสถาบันการแพทย์แผนไทย เพื่อเป็นศูนย์กลางพัฒนา ประสานงาน การสนับสนุน และความร่วมมือด้านการแพทย์แผนไทย และในปี พ.ศ. 2542 ได้มีการยกเลิกพระราชบัญญัติควบคุมการประกอบโรคศิลปะ พุทธศักราช 2479 มีพระราชบัญญัติโปรดเกล้า ฯ  ให้ตราพระราชบัญญัติการประกอบโรคศิลปะ พ.ศ. 2542 ทำให้การแพทย์แผนโบราณเปลี่ยนชื่อเป็น สาขาการแพทย์แผนไทย ประกอบด้วยประเภทเวชกรรมไทย เภสัชกรรมไทย การผดุงครรภ์ไทย และการนวดไทย (เพิ่มภายหลังการประกาศกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2544) และยังประกอบด้วยสาขาการแพทย์แผนไทยประยุกต์
และต่อมาใน พ.ศ. 2545 มีการปฏิรูประบบราชการโดยโอนหน่วยงานสถาบันการแพทย์แผนไทย ศูนย์ความร่วมมือการแพทย์ไทย-จีน และศูนย์ประสานงานการแพทย์ทางเลือก มาสังกัดกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมีนโยบาย ส่งเสริม อนุรักษ์ คุ้มครองภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย การศึกษาวิจัยและพัฒนาการแพทย์แผนไทย ตลอดจนนโยบายการแพทย์พื้นบ้านและการแพทย์ทางเลือก
และปัจจุบันจะเห็นว่าวิชาชีพการแพทย์แผนไทย เริ่มมีการศึกษาในระบบสถาบันการศึกษา โดยเฉพาะระดับมหาวิทยาลัยในส่วนกลาง ได้แก่  มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช มหาวิทยาลัยรามคำแหง มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา และมหาวิทยาลัยรังสิต ส่วนในภูมิภาค ได้แก่ มหาวิทยาลัยสารคาม มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงราย และมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เป็นต้น ดังนั้นกล่าวได้ว่าวิชาชีพการแพทย์แผนไทยมีการพัฒนาระบบการเรียนการสอนให้เป็นมาตรฐานในวิชาชีพ

 ความสำคัญของวิชาชีพแพทย์แผนไทย

                องค์ประกอบของวิชาชีพแพทย์แผนไทย ประกอบด้วย ความรู้ ทักษะและประสบการณ์และคุณธรรมจริยธรรม และจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ จะเห็นว่าผู้ที่จะประกอบอาชีพทางด้านแพทย์แผนไทยได้ต้องมีความรู้และประสบการณ์เฉพาะ อาศัยการฝึกฝนหาประสบการณ์จนเกิดความชำนาญ ความแม่นยำในศาสตร์ของตน ในกรณีนี้ก็คือแพทย์ไทยที่เก่งมีความสามารถ วินิจฉัยและรักษาโรคได้ถูกต้องตามหลักวิชา นอกจากนี้ยังต้องมีคุณธรรม จริยธรรมกำกับ เหมือนเป็นอาภรณ์ของแพทย์ทำให้นอกจากเป็นแพทย์ที่เก่งมีความชำนาญ ยังเป็นแพทย์ที่ดีสมกับวิชาชีพแพทย์ที่ได้รับการยกย่องและยอมรับของคนในสังคม
ดังนั้นความสำคัญของวิชาชีพแพทย์แผนไทย ย่อมมีความสำคัญในเรื่องของการแก้ไขปัญหาสุขภาพ ปัญหาสาธารณสุขของประเทศ และยังมีส่วนช่วยในการอนุรักษ์และฟื้นฟูองค์ความรู้การแพทย์แผนไทย ซึ่งถือว่าเป็นองค์ความรู้ของชาติ เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สืบทอดกันมา เราสามารถแบ่งระดับความสำคัญของวิชาชีพแพทย์แผนไทย ได้เป็น 4 ระดับคือ ความสำคัญในระดับประเทศ ระดับสังคม ระดับวิชาการ และระดับชุมชน  รายละเอียดดังนี้

1. ความสำคัญในระดับประเทศ
วิชาชีพแพทย์แผนไทยถือได้ว่าเป็นภูมิปัญญาแห่งชาติ เป็นเอกลักษณ์หรือมรดกทางวัฒนธรรมของประเทศที่สืบทอดกันมาแต่โบราณ ควบคู่มากับสังคมไทย เป็นองค์ความรู้ ความสามาถ และทักษะของคนไทยอันเกิดจากการสั่งสมประสบการณ์ที่ผ่านการเรียนรู้พัฒนา และถ่ายทอดสืบต่อกันในวิถีชีวิตของคนไทยอย่างสมดุลกับสภาพแวดล้อม และเหมาะสมกับยุคสมัย การแพทย์แผนไทยมีลักษณะเป็นองค์รวม ประกอบด้วย กาย จิต สังคม วัฒนธรรม ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีความสัมพันธ์เชื่อมโยง สามารถสะท้อนออกมาใน 3 ลักษณะ คือ ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับธรรมชาติสิ่งแวดล้อม ความสัมพันธ์ระหว่างคนในสังคมหรือชุมชน และความสัมพันธ์ระหว่างคนกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ภูมิปัญญาและปรัชญาการดำรงชีวิต นอกจากนี้รากฐานการแพทย์แผนไทยยังมีเอกลักษณ์และคุณค่าที่โดดเด่น มีการสืบทอดและวิวัฒนาการตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์ ผูกพันกับวิถีชีวิต พิธีกรรม  ความเชื่อ อันได้แก่ไสยศาสตร์ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ และสิ่งที่อยู่เหนือธรรมชาติ ผสมผสานกับระบบการแพทย์พื้นบ้าน ซึ่งเป็นการแพทย์ประสบการณ์อันเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น กับการแพทย์แผนไทยที่มีรากฐานการแพทย์อายุรเวทของอินเดีย กับพระพุทธศาสนา จะเห็นว่าการแพทย์แผนไทย เป็นการแพทย์ที่มีการหล่อหลอม ถ่ายทอดทางวัฒนธรรม ผ่านกระบวนการเรียนรู้ ลองผิดลองถูก เลือกสรร และการพัฒนาองค์ความรู้ ดังนั้นการแพทย์แผนไทยจึงนับว่าเป็นภูมิปัญญาแห่งชาติ หรือภูมิปัญญาท้องถิ่น อันเป็นเอกลักษณ์ของชาติไทย
เมื่อองค์การอนามัยโลก(WHO) กำหนดให้ทุกประเทศจะต้องกำหนดนโยบายของชาติให้มีการแพทย์แผนโบราณหรือแพทย์พื้นบ้านกับงานสาธารณสุขมูลฐานประกอบกับการพัฒนาของการแพทย์แผนปัจจุบันหรือการแพทย์แผนตะวันตก เป็นระบบความรู้ที่มีรากฐานวิทยาศาสตร์แบบลดส่วน ศึกษาองค์ประกอบที่เล็ก (ทฤษฎีเชื้อโรค) แบ่งแยกจิตใจออกจากร่างกายเด็ดขาด แต่การแพทย์แผนไทยหรือการแพทย์ทางเลือกอื่น ๆ จะมองความเจ็บป่วยเป็นองค์รวม มีความใส่ใจรายละเอียดของผู้ป่วยแต่ละรายทั้ง กาย จิตใจ และสังคม ตรงกับการส่งเสริมสุขภาพแนวใหม่ ที่เรียกว่า “ การสร้างเสริมสุขภาพ ” คือ กระบวนการที่ช่วยให้ผู้คนสามารถควบคุม และเพิ่มพูน
สุขภาพให้กับตนเอง เสริมให้มีสุขภาวะทางกาย จิต และสังคม ไปสู่การมีร่างกายแข็งแรง จิตใจที่สมบูรณ์อายุยืนยาวและคุณภาพชีวิตที่ดีตามกฎบัตรออตตาวา ที่เน้น “กระบวนการ” และ “ ควบคุม” ด้วยกฎบัตรออตตาวา 5 ประการ คือ นโยบายสาธารณะ การสร้างสิ่งแวดล้อม กิจกรรมชุมชน การสร้างทักษะและการปรับทิศทางบริการสุขภาพ ดังนั้นการแพทย์แผนไทยจึงเป็นแนวทางการสร้างเสริมสุขภาพ เพราะเป็นการรักษาที่ได้ผลแล้วยังสามารถถ่ายทอดให้ผู้ป่วยสามารถนำไปปฏิบัติได้ด้วยตนเอง ถือได้ว่าการแพทย์แผนไทยเกิดผลดีต่อสุขภาพ และการเพิ่มพลังอำนาจให้แก่ผู้ปฏิบัติ จึงตรงกับหลักการของการสร้างเสริมสุขภาพ

   
https://www.high-endrolex.com/12