การดูแลตนเองของผู้ป่วยทีได้รับยายาวาร์ฟาริน
(Warfarin)
ยาวาร์ฟาริน(WARFARIN) เป็นยาต้านการแข็งตัวของเลือด ทำให้เลือดแข็งตัวช้าลง ซึ่งผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองตีบที่มีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ จะได้รับยาวาร์ฟารินเพื่อป้องกันการเกิดลิ่มเลือดซึ่งอาจทำให้เกิดการอุดตันในระบบไหลเวียนของเลือดในร่างกาย อันเป็นสาเหตุนำไปสู่โรคหลอดเลือดสมองตีบได้
ข้อปฏิบัติในการรับประทานยาวาร์ฟาริน
1.ต้องรับประทานยาอย่างต่อเนื่อง และสม่ำเสมอ ไม่เพิ่ม/ลด/หยุดยาเอง
2.รับประทานอาหารครบ 5 หมู่ และควบคุมปริมาณอาหารชนิดพืช ผักใบเขียวที่รับประทานให้สม่ำเสมอ
3.หลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่ทำให้ระดับยาวาร์ฟารินในเลือดเปลี่ยนแปลงได้ เช่น การดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ การรับประทานอาหารเสริม หรือสมุนไพรชนิดต่าง ๆ
4.หลีกเลี่ยงกีฬาหรือกิจกรรมที่มีโอกาสเกิดอุบัติเหตุเลือดออกง่าย ควรใช้แปรงสีฟันที่อ่อนนุ่ม ควรใช้แผ่นกันลื่นบริเวณห้องน้ำ เพื่อป้องกันอุบัติเหตุ
5.ในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุหรือเกิดบาดแผลเลือดอาจออกไม่หยุด หากบาดแผลมีขนาดเล็กและไม่ลึกวิธีแก้ไขไม่ให้เลือดออกมาก คือ ใช้มือสะอาดกดไว้ให้แน่นตรงบาดแผล เลือดจะหยุดหรือออกน้อยลง หากเลือดยังไม่หยุดไหล ให้รีบไปโรงพยาบาลทันที และแจ้งให้แพทย์หรือพยาบาลทราบว่ารับประทานยาวาร์ฟารินอยู่
6. หากต้องทำหัตถการทางทันตกรรม ต้องบอกให้ทันตแพทย์ทราบว่ากำลังรับประทานยาวาร์ฟารินโดยเฉพาะในกรณีที่จะต้องทำการผ่าตัด ถอนฟัน หรือต้องรับประทานยาอย่างอื่นเพิ่ม เนื่องจากมียาหลายชนิดที่เพิ่มฤทธิ์/ลดฤทธิ์ของยาวาร์ฟาริน
7.กรณีเข้ารับบริการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลอื่นต้องแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบทุกครั้งและห้ามรับการรักษาโดยการฉีดยาเข้ากล้าม
8. ควรพกบัตรประจำตัวเมื่อได้รับยาวาร์ฟาริน (warfarin card) ติดตัวไว้เพื่อเป็นการดูแลตนเองและแสดงบัตรทุกครั้งที่เข้ารับบริการในโรงพยาบาลและสถานบริการทางสุขภาพ เพื่อเป็นการแจ้งให้บุคลากรทีมสุขภาพที่เกี่ยวข้องทราบ
9. หากลืมรับประทานยามีข้อปฏิบัติ คือ ห้ามเพิ่มขนาดยาที่รับประทานเป็น 2 เท่าโดยเด็ดขาดและปฏิบัติดังต่อไปนี้
- กรณีลืมรับประทานยาและยังไม่ถึง12 ชั่วโมงให้รับประทานยาทันทีในขนาดเท่าเดิม
- กรณีลืมรับประทานยาและเลย12 ชั่วโมงไปแล้ว ให้ข้ามยาในมื้อนั้นไป แล้วรับประทานยามื้อต่อไปในขนาดเท่าเดิม
10. การเก็บรักษายา เก็บให้พ้นแสงและความชื้นควรเก็บไว้ในภาชนะที่โรงพยาบาลจัดให้ และเก็บยาให้พ้นมือเด็ก
การสังเกตอาการผิดปกติ
สังเกตอาการแสดงหากได้รับยามากเกินไป ได้แก่ เลือดออกตามไรฟันจ้ำเลือดตามตัว เลือดออกในทางเดินอาหาร เลือดออกทางทวารหนัก อุจจาระมีสีดำ มีเลือดออกที่ช่องคลอด หรือประจำเดือนมามากผิดปกติ ปัสสาวะเป็นเลือด ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ถ้ามีอาการดังกล่าวให้หยุดรับประทานยา และรีบมาโรงพยาบาล
การติดตามผลการรักษา
1. ผู้ป่วยจะต้องได้รับการเจาะเลือดเพื่อวัดการแข็งตัวของเลือด และเพื่อให้แพทย์ได้ปรับยาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย
2.หลังจากออกจากโรงพยาบาล 2 สัปดาห์ ผู้ป่วยจะต้องมาตรวจตามนัดเพื่อติดตามผลการรักษาและปรับระดับยา (กรณีผู้ป่วยตรวจตามนัดที่โรงพยาบาล อื่น ทางหอผู้ป่วยจะมีการโทรศัพท์ติดต่อเพื่อติดตามผลการรักษา)